ขอเชิญเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567

เรียน  ท่านสมาชิกสามัญ สมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร

เนื่องจากรอบแรกสมาชิกลงชื่อมาไม่ถึงครึ่งหนึ่งตามข้อกำหนด ทางสมาคมเลยมีความจำเป็นต้องจัดประชุมใหญ่สามัญอีกครั้ง ในวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2567 โดยเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 13.30 น. และเริ่มการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2567 เวลา 13.30 น. สมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร ขอเรียนเชิญสมาชิกสามัญทุกท่าน เข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567  

เพื่อความสะดวกเรียบร้อยในการจัดประชุม สมาคมฯ ใคร่ขอความกรุณาจากท่านสมาชิกสมาคมฯ โปรดแสดงความจำนงในการเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2567 เพื่อจัดสถานที่ประชุมให้สอดคล้องกับจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม ตามรายละเอียดการตอบรับเข้าร่วมประชุม ภายในวันพุธที่ 13 มีนาคม 2567 จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

สมาชิกสมาคมฯ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมใหญ่ ประจำปี 2567 ในวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2567 

ลงทะเบียนได้ที่ : https://bit.ly/3UYK8AV

ตรวจสอบรหัสสมาชิกของท่านได้ที่  :  https://shorturl.asia/QOB2H



Metaphor ของ BIM กับ ERP ตอนที่ 2

อ่านบทความ “Metaphor ของ BIM กับ ERP ตอนที่ 1” ที่นี่

นอกจากนิยามของตัวมันเองแล้ว การเปลี่ยนผ่านในช่วงของการ Implement หรือ ที่เรียกว่า “ขึ้นระบบ” หรือ “วางระบบ” ระหว่าง ERP กับ BIM มีความเหมือนกันในหลายๆ มิติ ดังนี้

(1) ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับ Business Process ต้องเข้ามาทำงานบนระบบ ERP หมด

ก็คือแทบจะทั้งองค์กร อาจจะมีรอดไปบ้าง เช่น ฝ่ายกฎหมาย หรือฝ่ายราชการสัมพันธ์ แต่องค์กรที่ทำจริงจัง แม้แต่การเก็บเอกสารบางครั้งก็โอนมาบน ERP ดังนั้น จากคนที่แยกตัวเป็นรัฐอิสระ เป็นไซโล นั่งทับอะไรไว้ ก็ต้องคายออกมาอยู่ในระบบ ทั้งหมด ให้คนอื่นๆ ได้เห็นไปด้วยกัน

สำหรับ BIM สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มีคนถามตลอดว่า ผมทำงานฝ่ายนี้ ต้องใช้ BIM หรือไม่ BIM น่าจะมีเฉพาะฝ่ายออกแบบใช่หรือไม่ หากเราใช้หลักการของ ERP มอง คำถามคือ “คุณเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่มาจากแบบหรือไม่” เช่น คุณเป็นฝ่ายประมาณราคา คุณไม่เขียนแบบ แต่ข้อมูลจากแบบ คือ ข้อมูลขาเข้าที่สำคัญของคุณ ถ้าไม่มีคุณทำงานไม่ได้ คุณก็ต้อง “ใช้ระบบ” BIM ให้เป็นถึงแม้จะไม่ได้เขียน Model ก็ตาม

(2) กระบวนการและอำนาจสั่งการต้องชัดเจน

ระบบงานใดที่ไม่มีมาก่อน กระบวนการใดที่ไม่ชัดเจน กำกวม ต้องมาทำให้ชัดเจน ไม่มีคำว่าอะไรก็ได้ ใครมีอำนาจอะไรทำได้ หรือไม่ได้ ต้องมีหลักการ โดยปกติองค์กรจะต้องสร้าง Table of Authority แสดงอำนาจของผู้บริหารและพนักงานในระดับต่างๆ ที่มีสิทธิ์ในการสั่งการ นั่นคือสิ่งที่ต้องสะท้อนมาในเงื่อนไขของการปรับองค์กร

ในโลกของ BIM คำถามคือ ใครมีสิทธิ์แก้แบบ ใครมีสิทธิ์ Upload ใครมีสิทธิ์ลบ หรือใครได้แค่ Comment แล้วเมื่อจบการออกแบบ ไปที่การก่อสร้าง ผู้ออกแบบ ต้องถูกปลดสิทธิ์ออกจากระบบหรือไม่อย่างไร หากองค์กรไม่มีกระบวนการ คำตอบของเรื่องเหล่านี้ ย่อมไม่มี การทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดย่อมไม่เกิดขึ้น

หมายเหตุ เอาแค่ข้อ (1) และ (2) นี่เอง องค์กรหลายๆ องค์กร พอผู้บริหารที่อาจจะเป็นรุ่นใหม่ จะเอา ERP มาใช้ แล้วพอเจอ พนักงานเก่าที่แข็งแกร่งมากๆ และไม่ยอมเปลี่ยน และผู้บริหารใหม่ก็ไม่กล้าจะชนกับพนักงานเก่า ทุกอย่างจะจบลงตรงนี้ แล้วไปต่อไม่ได้ และคนจะหาแพะรับบาป แพะที่ง่ายที่สุดคือ “เทคโนโลยี” เพราะมันไม่มีชีวิต พูดประโยคเดียวว่า “ERP ไม่เหมาะสำหรับวัฒนธรรมองค์กรของเราก็พอแล้ว

แต่ข่าวดีสำหรับ ERP เหตุผลหนึ่งที่ ERP มักถูกดันไปต่อจนจบแม้จะต้องเจ็บปวดสาหัสเพียงใด ก็คือ การใช้ ERP เป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของบริษัทที่จะจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นมันเหมือน Fight บังคับที่ถอยไม่ได้แล้ว ต้องทำให้สำเร็จให้ได้

แต่ในโลกของ BIM คือ ไม่มีแรงผลักด้านหลังตรงนี้ ดังนั้นองค์กรไหนที่เริ่มเจออุปสรรค และคนเริ่มท้อ แผนไม่ชัด เป้าหมายไม่ชัด คนที่อยู่เก่าไม่ต้องการเปลี่ยน และต้องการทำลาย เรื่องนี้ก็อาจพังได้ง่าย

(3) การทำงานเปลี่ยนจากสายพาน มาเป็นระบบ Collaborate ที่ต้องมีการกำหนดสิทธิ์

แนวคิดเหมือน IT เช่นเดียวกับข้อ (2) เมื่ออำนาจสั่งการและกระบวนการชัดเจน สิทธิ์ในการที่จะเข้ามาดำเนินการใดๆ กับข้อมูลด้านธุรกิจขององค์กรก็คือ แล้วแต่ตำแหน่งของคนๆนั้น แล้วสภาพแวดล้อมของการทำงานคือ ข้อมูลจะอยู่กับที่ไม่เคลื่อนที่ไปไหนอยู่ในระบบ แต่คนต้องผลัดเวียนกันเข้ามาดำเนินการสร้างข้อมูล ให้เป็นประโยชน์กับองค์กร ต่างกับระบบเดิมที่ ต้อง “แบก” ข้อมูลไปเวียน ในจุดต่างๆ ให้คนเซ็น ให้พิจารณา ข้อมูลจึงเคลื่อนที่ตลอด ระหว่างที่เคลื่อนที่คนก็จะไม่รู้ ว่าเป็นอย่างไร

ในโลกของ BIM ที่เป็นโลกของแบบ ที่ทำงานบนสายพาน และเมื่อต้องการเปิดแบบ ก็ต้องให้ลูกน้อง “Print” เอาแบบมาให้ดู ต่อหน้า แล้ว Comment กลับไป ก็จะกลายเป็นโลกที่ทำงานผ่านการ Comment แบบ “บนระบบ” และ มี BIM Manager ขององค์กร คอยประสาน ข้อมูลกลับไปยัง Project Manager (หรือ BIM Manager ของเจ้าของ) เพื่อดำเนินการต่อ การ Print แบบออกมาสัปดาห์หนึ่งแล้วค่อยมาดู Comment กลับไป นั้น แบบที่อยู่ในระบบอาจจะเดินหน้าต่อไปอีกระดับหนึ่งแล้ว และ สิ่งที่ Comment กลับไปอาจจะไม่มีความหมายหรือคุณค่าใดๆ อีกแล้วก็ได้ การปรับตัว และปรับวิธีทำงานตรงนี้ยากมาก และเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ BIM ไม่เกิด

(4) คนที่เป็นเจ้าของ ข้อมูล ต้อง Input ข้อมูลเข้าสู่ “ระบบ” โดยตรง ไม่ผ่านคนอื่น

เรื่อง ERP ก่อนหน้านี้จะมี อาชีพหนึ่งที่เรียกว่า ธุรการ ที่เป็นคนทำเอกสาร เจ้านายเขียนมาแล้วธุรการไปกรอกลงระบบให้ ปัจจุบันโลกของการ Cut Cost ในธุรกิจ และการมาของ ERP ทำให้ธุรการ หมดคุณค่าไป เนื่องจากคนที่เป็นเจ้าของข้อมูลต้อง Key เอง ผู้จัดการ Sale ที่ไปขายของมา ต้องเขียนรายงานไปในระบบ คนนับ Inventory ต้อง Key การอนุมัติในระบบเองและรับผิดชอบกับข้อมูล จะอ้างว่า ธุรการทำมาผิดไม่ได้

เช่นเดียวกับข้อ (3) ในโลกของ BIM ไม่มีอีกแล้ว เด็ก Draft ที่ต้อง Print แบบมาให้คุณ ไม่มีอีกแล้ว Draft Man ที่ไปทำ Note แทนคุณ หากคุณคือ Project Manager คุณต้อง Interact โดยตรงกับข้อมูล และสั่งการให้มีการแก้ไขใดๆ “บนระบบ” ไม่ใช่สั่งภายนอก ด้วยปากเปล่า ทั้งนี้เพื่อให้ระบบ สามารถบันทึกสิ่งที่เป็น Note ว่าจะมีการแก้ไขอย่างไรต่อไปได้ มี Item อะไร Pending บ้าง เป็นต้น

(5) การออก Report หรือ ผลการทำงานต้องออกจากระบบเท่านั้น

เช่น รายงาน การขาย สินค้าคงเหลือไม่มีการ Print ออกมาเป็น Excel แล้วมาจัดเข้า Powerpoint แต่ให้มีการวาง Format สิ่งที่ต้องการนำเสนอเป็น Presentation จัดตำแหน่งกราฟต่างๆรอไว้เลย เมื่อถึงเวลาผู้บริหารก็ “เข้าระบบ” มาดู ซึ่งเราสามารถเรียกปรากฏการณ์นี้ ว่า “Dashboard”…ไม่มีอีกแล้ว ที่เราจะรอ Print แล้วเอามาอ่าน ใครที่เล่นหุ้น ต้องถามตัวเองว่า เราอยากดูราคาหุ้นของเรา ณ เวลานี้ หรือ เราอยากดูราคาเฉพาะ เวลา 16.30 น. กันแน่

เช่นเดียวกัน แบบของ BIM เปลี่ยนตลอดเวลา เราอยากดูแบบ เราก็ Set Dashboard แบบที่เราต้องการ เช่น Dashboard ปริมาณวัสดุ Dashboard พื้นที่ขาย Dashboard พื้นที่จอดรถ เป็นต้น สะท้อนตามแบบที่กำลังพัฒนาอยู่

(6) การ Migrate ฐานข้อมูลเดิมเข้าระบบคือ สาหัสมาก

ในวันที่เราเริ่มต้น ว่าองค์กรมีนโยบายจะไป ERP นอกจากการ Clear เรื่องอำนาจสั่งการ เรื่องกระบวนการต่างๆ แล้วยังมีประเด็นเรื่อง ฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ในอดีต ทั้งเรื่องฐานข้อมูลลูกค้า Supplier บัญชี Stock ต่างๆ ที่ต้องย้ายจาก กระดาษที่อยู่ที่เดิมเข้าไปในระบบ ERP เพื่อให้นำไปทำงานต่อได้

โดยหลักการแล้ว สำหรับ BIM จะง่ายกว่า องค์กรที่เป็นองค์กรออกแบบ หรือบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ตรงนี้จะไม่ยาก เพราะเราเน้นทำโครงการใหม่อย่างเดียว เพราะเราเป็นเพียง “คนสร้างข้อมูล” ส่งให้กับเจ้าของ แต่เจ้าของที่มี Asset เป็นอาคารจำนวนมากที่ต้องการ Implement BIM ให้สำเร็จเป็นส่วนหนึ่งของ ERP ขององค์กรนั้น ต้องมีการทยอยทำข้อมูล BIM ย้อนไปในอดีตเพื่อนำข้อมูล Asset ใน Portfolio ของเจ้าของนำมาใช้

(7) ใช้เวลา 2-3 ปี กว่าองค์กร จะทำงานบนระบบใหม่ได้เป็นปกติ

ERP คือการเปลี่ยนกระบวนการทำงาน และ ต้องมีการปรับทั้งทัศนคติ ทักษะ และ องค์ความรู้ใหม่ ต้องใช้เวลานานในการ ชักจูงให้คนเชื่อ ให้คนทุ่มเท ให้คนฝึกฝน มีความผิดพลาดอุปสรรคต่างๆ มากมาย กว่าจะทำงานบนระบบ ERP ได้เป็นปกติ “ทั้งองค์กร”

BIM ก็เช่นเดียวกัน และ อาจจะยุ่งกว่า เพราะต้องเกี่ยวกับคนภายนอกด้วย ในกรณีของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ฝ่ายออกแบบ ฝ่ายขออนุญาต ฝ่ายประเมินราคา ฝ่ายขาย ฝ่ายโอน ใช้ข้อมูล BIM หมด แล้วจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจและเล็งเห็นว่า ใช้ข้อมูล BIM จากต้นทางเลยคือ Update ที่สุด สะดวกที่สุด

หมายเหตุ: ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะพอเห็นแล้วว่า ถ้าการมาพัฒนา BIM ในองค์กร ก็เหมือนกับการ พัฒนา ERP ในองค์กร แล้วคำถามคือ “สองอันนี้มันเชื่อมโยงกันมั้ย” คำตอบคือ “Yes” สองสิ่งนี้เชื่อมโยงกันแน่นอน Synchronize กัน และควรอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้เชื่อมโยงกัน แต่ขอละไว้ เขียนถึงวันหลัง

เมื่อ ERP ดำเนินการไปอย่างเหมาะสม ผลที่ออกมาคือความสวยงาม

  1. Organized Organization ระบบ ระเบียบ กระบวนการต่างๆ ถูกจัดให้เข้าที่โดยปริยาย ตามที่บอกไว้แต่ต้นว่า หากการทำงานภายในองค์กร กระบวนการไม่ชัด ระบบ ERP จะขึ้นไม่ได้ BIM ก็เช่นกัน ถ้าไม่ชัด ก็จะไม่มีวันเกิดได้เช่นกัน แต่หากเราอาศัยจังหวะนี้เป็นการสังคายนาองค์กรของเราไปเลย ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะทำ
  2. Real Time Information ใส่ข้อมูลไปที่จุดไหนผลกระทบภาพใหญ่เกิดทันที นี่คือหลักคิดเรื่อง Single Source Information ของ BIM ที่ปรับตรงไหน คนอื่นๆ ก็เห็นผลกระทบหมด “ทันที” การแก้แบบ คือแก้บนระบบกลาง จะไม่มีว่า “แบบไม่ตรงกันอีกต่อไป” เพราะมันมีแบบเดียว และ Update เสมอ แต่จะถูกต้องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคนที่ทำแบบว่าทำถูกหรือไม่
  3. Surge of Productivity เมื่อใช้ระบบ ERP ใหม่เต็มที่ การ Scale Productivity เพิ่มคนด้านหน้าอย่างเดียว ส่วน Back Office ควรอยู่ด้วยคนเท่าเดิม ธุรการไม่จำเป็นต้องมี เอาธุรการไปทำงานอย่างอื่นได้ ในส่วนของ BIM การทำงานจะอยู่ที่ สถาปนิก และวิศวกร ที่ต้องเข้าใจ การก่อสร้างอย่างแท้จริง จะหนีความรับผิดชอบโดยการเขียนแค่ Concept หรือ “ประมาณนี้” แล้ว เข้าไปเป็น 3D อย่างไร ติดตั้งอย่างไร ไม่ชัด ไม่ได้ สถาปนิกหรือวิศวกรที่รู้เรื่องการตัดตั้งตัวจริง จะมีคุณค่าสูงมาก ในขณะที่คนที่ไม่รู้เรื่องก็จะหายไป ไม่มีการรับจ้างทำ Production แล้วเพราะ ตัวคนที่รู้เรื่องต้องทำเอง
  4. Accountability ข้อมูลทั้งหมดอยู่ในระบบตรวจสอบได้ ชัดเจนตามกระบวนการ เนื่องจากทุกอย่างชัดเจน กระบวนการ ผู้รับผิดชอบ ผู้ใส่ข้อมูล เวลาที่ใส่ ไม่มีใครหนีความรับผิดชอบไปได้ ไม่มีใครอ้างเอกสารที่ยังไม่ได้รับได้ ไม่มีใครอ้างว่า แนวทางไม่ชัดเจนได้ ทำให้การแก้ปัญหาในกรณีที่เกิดขึ้น ทำได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลา ในโลกของ BIM เหมือนกับ ERP คือมีการเก็บ Log หรือ บันทึกกิจกรรมที่มีการดำเนินการในระบบ แบบที่ออกมาจะทราบได้ทันที ชัดเจนว่าใครคือคนปรับใครคือคน Upload ใครคือคนเปลี่ยนข้อมูล และคนๆ นั้นต้องรับผิดชอบ ต่อผลที่เกิดขึ้น
  5. Analytics การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาองค์กรทำได้ง่าย เพราะเปิดทีเดียวก็เจอ ERP มีการบันทึก Data ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และนำการเปลี่ยนแปลงนั้น มาวิเคราะห์ เพื่อทำนาย Trend สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ BIM เช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลง แบบต่างๆ ที่เกิดขึ้น บ่อย และไม่ต่อเนื่อง และ ราคา ต่อหน่วยของวัสดุที่มีการนำมาใช้ทำค่าก่อสร้าง หากมีแนวโน้ม การพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นประเด็นให้โครงการ สามารถหาวิธีบริหารความเสี่ยงได้

หมายเหตุ: ทุกวันนี้ ยังมีการรับจ้างเขียน BIM กันอยู่ เพราะ หลายองค์กรยังมอง BIM เป็น File ชนิดหนึ่ง ที่ต้อง “ส่งมอบ” ไม่ได้มองเป็นกระบวนการทำงาน  นั่นคือความซ้ำซ้อน

ดังนั้นโดยสรุป หากเจ้าของกิจการ ผู้บริหาร หรือผู้จัดการระดับสูง ใช้ตรรกะของการ Implement ERP มาใช้กับการ Implement ระบบ BIM การวัดความคุ้มค่า และประสิทธิภาพการทำงาน จะสามารถเข้าใจและเห็นภาพได้ไม่ยากนัก

สุดท้ายถ้าจะ Summary BIM Benefit ให้ง่ายคือ “Speed & Accuracy ที่ก้าวกระโดด สำหรับองค์กร อย่างน้อย x3 เท่า ในเรื่องข้อมูลที่มาจากแบบ”

ธุรกิจที่ต้องการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ต้องมี ERP องค์กรที่ทำงานด้านแบบก่อสร้างหากต้องการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ต้องมี BIM

BIM Boothcamp 2023

เปิดรับสมัครแล้ววันนี้

วันนี้วันลงทะเบียนวันแรกของงาน BIM Bootcamp 2023 แจ้งทราบพี่น้องสมาชิกชาว BIM Club TH ทุกคน 200 ที่นั่งเท่านั้น หมดแล้ว หมดเลย ไม่มีทดเวลาบาดเจ็บแน่นอน

BIM Bootcamp 2023
Date: Sat, 28th Oct 2023 8:00-18:00
Location: O-NES Tower
Ticket Type:
– Early Bird price :850 baht (before 31 Aug 2023)
– Regular Price: ฿1,500 ** (from 1 Sep 2023)
** Edited: 13 Sep 2023

*Included Shirt+Lunch+Snack

BIM Bootcamp คืออะไรสำหรับผู้ที่ไม่เคยมา มันคืองานที่มีห้องให้เลือก Training ได้ตามหัวข้อที่จะแจ้งและให้เลือกในภายหลัง โดยหลักๆจะมีทั้งห้องสถาปนิก, วิศวกรโครงสร้าง, วิศวกรงานระบบและงานประยุกต์ต่างๆ โดยผู้ที่มาเทรนนิ่งจะเป็นผู้ที่ทำงานนั้นๆมา อธิบายวัตถุประสงค์และวิธีการทำงานที่เกิดขึ้นจริง อุปสรรคปัญหาและแนวทางการแก้ไข อยากจะอธิบายให้ละเอียดกว่านี้แต่ก็เกรงใจชาว Early Bird ทุกท่านเพราะเขารู้กันว่างานนี้มันส์ขนาดไหน

การเตรียมตัว
1. หัวใจต้องพร้อม
2. Software ต้องถูกลิขสิทธิ์
3. ไม่แนะนำให้เอารถยนต์ส่วนตัวมา เพราะราคานี้ไม่รวมค่าที่จอดรถของอาคารครับ

ช่องทางในการสมัครที่นี้

https://tbim-bootcamp.goodwill.work

Metaphor ของ BIM กับ ERP ตอนที่ 1

ในวงการก่อนหน้านี้ ย้อนไป 5 ปีขึ้น จะมีคำพูดว่า “เรากำลังจะเปลี่ยนจาก CAD เป็น BIM” ประโยคดังกล่าวเป็นประโยคที่ช่าง ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก หรือวิศวกร ในวงการออกแบบก่อสร้างเข้าใจได้ เพราะ สิ่งที่เราใกล้ชิดกับ ความเป็น Digital มากที่สุด

สำหรับคนกลุ่มนี้ ถ้าไม่นับการใช้ LINE หรือ ส่ง Email คือการใช้โปรแกรม CAD เขียนแบบ เปิดอ่านแบบ แต่ หลายๆ คนพอได้จับ BIM ไม่ว่าจะเป็นการใช้โปรแกรมใดๆ ก็ตาม เมื่อศึกษาลงลึกไปจะทราบว่า BIM นั้น ไม่ใช่แค่การเขียนแบบ ไม่ใช่แค่ 3D แต่มันคือ “กระบวนการ”

Software ที่เป็น BIM-based คือ Software ที่ทำให้กระบวนการ ซึ่งเป็นแนวคิดทางทฤษฎี ของการทำงานเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ในโลกของและข้อมูลการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องเป็นหนึ่งเดียว เป็นจริงได้ เป็นกระบวนการที่มนุษยชาติในวงการก่อสร้างใฝ่หา อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ “ข้อมูล” ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ BIM นั้นเป็นข้อมูลที่ไป “เชื่อมต่อ” กับข้อมูลในลักษณะอื่นๆ ภายในองค์กรและภายนอกองค์กรได้

BIM ทำให้การ “Link ระหว่างข้อมูลข้ามระบบ” หรือที่เรียกว่า ปรากฎการณ์ Synchronization เกิดขึ้นได้ เมื่อเปลี่ยนที่จุดใดจุดหนึ่งภาพรวมในระบบทั้งหมดจะเปลี่ยน ดังนั้น หากใครในที่นี้ใช้ BIM แล้ว ท่านยังไม่เกิดปรากฎการณ์นี้ในองค์กร ก็ต้องขอเรียนว่า ท่านยังได้ประโยชน์จากมันไม่เต็มที่ หากท่าน Sync ได้ ท่านจะสามารถ Optimize ประสิทธิภาพของ “แบบก่อสร้าง” ที่มีผลต่อ ต้นทุน ความเสี่ยง และกระบวนการภายในของท่านได้อีกมากมายมหาศาล

ทีนี้ คำถามต่อไปคือ ถ้าเรายึดหลักว่า “การเชื่อมโยงข้อมูลของงานออกแบบก่อสร้างจาก BIM ให้เป็น Real-time เข้ากับ กระบวนการภายในองค์กร คือ Benefit ที่เป็น Ultimate ของ BIM” แล้วตรรกะที่ว่า “เราจะเปลี่ยนจาก CAD ไป BIM” ซึ่งฟังดู เหมือนเป็นเพียงการเปลี่ยนเครื่องมือเขียนแบบ แท้จริงแล้วคือตรรกะที่ถูกต้องหรือไม่

คำตอบของผม ในฐานะคนที่เกี่ยวข้องกับ BIM มา 10 ปี ก็คงจะต้องตอบว่า “ถูก แต่ถูกด้านเดียว” และด้านที่ว่านั้น คือด้านของ “คนทำแบบ” คนทำแบบคือใครบ้าง ก็เช่น สถาปนิก วิศวกร หรือที่ปรึกษาต่างๆ ที่อยู่ในฝั่ง “ออกแบบ” หรือในโลก Digital คือ คน “สร้างข้อมูล” (เปรียบเทียบกับฝั่งผู้รับเหมาคือคน “สร้างวัตถุ”)

ตรรกะที่ไม่เคยถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนที่สำคัญยิ่งกว่าคนทำแบบ ให้เขาเข้าใจ Logic ตรรกะสำหรับเจ้าของกิจการ หรือ Business Owner รวมถึง ผู้บริหารองค์กร ว่า จากที่เคยเป็นอยู่ แล้วมาเป็น BIM สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคืออะไร ที่เป็นสาระสำคัญ

ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า องค์กรได้อะไรที่เป็นประโยชน์แบบก้าวกระโดดบ้าง จากการนำเทคโนโลยีที่ต้นทุนสูงนี้มาใช้

ในฐานะที่มีประสบการณ์บริหารองค์กรอยู่บ้าง ผมคิดว่า ตรรกะที่เหมาะสม สำหรับเจ้าของกิจการและผู้บริหาร จาก “ไม่มี BIM” มา “มี BIM” คือการ “Implement ระบบ Enterprise Resource Planning” ใน Business Process

การนำ BIM เข้ามาในองค์กร เปรียบได้กับการเปลี่ยนการทำงาน แบบกระดาษ กดเครื่องคิดเลข Excel บนเครื่องใครเครื่องมัน หรือแม้แต่ Shared Drive เป็น Excel มาเป็นระบบ ERP ใครที่เป็นผู้บริหารแล้วได้ผ่านประสบการณ์ของการ Migrate จากระบบ Manual Paper ผสม Excel + เครื่องคิดเลข มาเป็นระบบ ERP ล้วนจะเข้าใจความ “นรก” ของช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น และจะเห็นผลเมื่อ คนในองค์กรของท่านได้ ฝึกใช้ จนเข้าสู่ภาวะปกติของการทำงานในโลกใหม่ ซึ่งท่านจะรู้ว่า องค์กรของท่านเหมือนขับรถม้าเปลี่ยนมาขับรถยนต์

ERP คืออะไร

ความหมายจาก เว็บไซต์ Investopedia.com มีดังนี้ Enterprise resource planning (ERP) เป็นกระบวนกาาร ที่บริษัทใช้ในการบริหารและเชื่อมโยงส่วนงานต่างๆ ของธุรกิจเข้ามาหากัน ทั้งนี้เครื่องมือที่สำคัญที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ดังกล่าวได้ คือ Software ที่มาดำเนินการ ดังนั้นพอพูดถึง ERP หลายคนจะมุ่งไปที่ Software ทันที โดยมักไม่มองแนวคิดด้านกระบวนการ Software ERP จะตอบโจทย์ โดยเฉพาะการ “วางแผนการใช้ทรัพยากร” สมชื่อตรงตัวของมัน ให้มาเป็นระบบเดียวให้ได้

Function หรือสายงานที่ต้องมีการเชื่อมกัน คือ Function ที่เป็นสาระของธุรกิจที่เกี่ยวกับทรัพยากร (เช่น เงิน หรือ คน คู่ค้า วัตถุดิบ หรือสินค้า เป็นต้น) ฝ่ายดังกล่าว เช่น Purchasing Inventory, Sales, Marketing, Finance, Human Resources เป็นต้น

ทุกวันนี้ Software ERP มียี่ห้อที่ดังๆ จากบริษัทขนาดใหญ่ และ Start-Up มากมาย และมีการปรับเปลี่ยนมาตลอด โดยเฉพาะทุกวันนี้อยู่ในระบบที่เป็น Cloud และทำงานเป็น Software-as-a-Service (SaaS) ที่ไม่ต้องมาลงโปรแกรมในเครื่อง ไม่ต้องซื้อ Server ใดๆ ทำให้เป็นปรากฎการณ์ที่ ERP ในองค์กร ถูก Access ได้ทั่วโลก เกิดขึ้น เป็น User-Friendly มากขึ้น ราคาก็ถูกลงไป

ผลประโยชน์ ของ ERP คือ การไหลลื่นของข้อมูลที่คล่องตัว (Free Flow of Communication) โดยเฉพาะระหว่างฝ่าย และระหว่างหน่วยธุรกิจ กลายมาเป็น “A Single Source of Information” และ “Accurate” รวมถึงกลายเป็น “Real-Time Data Reporting” ที่สำคัญ ทุกคนพูดเหมือนกันว่า ERP system จะกลายเป็นกระดูกชิ้นใหญ่หากทำการ “Implement” โดยไม่เตรียมระบบองค์กรให้เหมาะสม

ใครที่ทำงาน BIM แล้วฟัง นิยามที่พูดถึง ERP นี้ รับรองได้ว่า นึกว่าคู่แฝดจาก โลกคู่ขนาน โลกหนึ่งคือธุรกิจการเงิน อีกโลกคือการก่อสร้าง

หากมีคนมาถามผมว่า BIM คือ ERP สำหรับโลกของงานออกแบบก่อสร้างและบริหารอาคารใช้หรือไม่ ผมจะตอบเลยว่า ใช่

นอกจากนิยามของตัวมันเองแล้ว การเปลี่ยนผ่าน เหมือนกันในหลายๆ มิติ ระหว่าง ERP กับ BIM มาก ในช่วงของการ Implement หรือ ที่เรียกว่า “ขึ้นระบบ” หรือ “วางระบบ”

ในตอนหน้า ผมจะพาทุกท่านไปลงรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการ Implement ทั้งในโลกของ ERP และ BIM กันครับ

BCT Expo 2023

Smart Facility Management ในหัวข้อ How to Drive Smart Facility Management for industrial 5.0

ขอบคุณ PCS limited และ BCT expo 2023 เชิญสมาคม​แบบจำลอง​สารสนเทศ​อาคาร โดย ผศ.ดร สรรพวัฒน์ จตุพัฒน์วรางกูร กรรมการและ หัวหน้าฝ่ามาตรฐาน​ ร่วมเสวนาช่วง Smart Facility Management ในหัวข้อ How to Drive Smart Facility Management for industrial 5.0 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566

Nova Build Expo 2023

​บรรยาย​ในหัวข้อ Digital Twin for Smart City แบบจำลองสารสนเทศ​เมือง

ขอบคุณทีมงาน Nova Build Expo 2023 ให้เกียรติ​สมาคมแบบจำลอง​สารสนเทศ​อาคาร Thai BIM Association ได้จัดบรรยายพิเศษ โดย ผศ.ดร. สรร​พวัฒน์​ จตุพัฒน์วรางกูร กรรมการและหัวหน้าฝ่าย​มาตรฐาน​บรรยาย​ในหัวข้อ Digital Twin for Smart City แบบจำลองสารสนเทศ​เมือง ในวันที่ 13 กย. 2566 และ บรรยายพิเศษในหัว Future Innovative Building Facility Management โดย ผศ.ดร.เด่นชัย วรเดชจำเริญ ศูนย์วิจัยอาคารอัจฉริยะ​ม.ศรีปทุม คุณชาญ โชคชัย บริษัท นันทวันทจำกัด และ ผศ.ดร สรร​พวัฒน์​ จตุพัฒน์วรางกูร ร่วมบรรยาย ในวันที่ 15 กย. 2566 ที่ผ่านมา

BIM กับการ Combine งานอาคารสูงช่วงก่อนการก่อสร้าง

ดูเหมือนปัจจุบัน กระบวนการ BIM จะสามารถช่วยงานอาคารสูงได้อย่างดี

ผมนิยามการทำงานด้วย BIM เสมือนการสร้างอาคารจริงในคอมพิวเตอร์ ก่อนที่จะไปสร้างจริง ในตอนนี้มีวิศวกรเข้ามาช่วยสร้างโมเดล งานระบบต่างๆ ก็ดูเหมือนจะบ่งบอกปัญหาได้มากยิ่งขึ้น

มีการนำกระบวนการ 3D coordination เข้ามาใช้อย่างหลากหลายในช่วงออกแบบก่อสร้าง โดยประโยชน์หลักๆ มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก่อนไปสร้าง

ใช้เวลาเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่เน้นการ Combine แบบมากขึ้น ทำให้งาน ที่จะ นำไปก่อสร้าง มีคุณภาพมากขึ้น ความคาดหวังคือ ลดเรื่องปวดหัว ลดการช้ำของงานจากการแก้ไข มีหลายคนช่วยกันคิดบนงานเดียวกัน ไม่เหมือนเดิม ที่ บางงาน ผู้รับเหมาต้องแอบบ่นว่า ส่งแบบมาเหมือนไม่ได้คุย (sync) กัน บางงานก็เป็นการช่วยให้ทีมพัฒนาโครงการ ให้สามารถรักษาสัญญา กับลูกค้า ได้มากขึ้น เช่น ระดับความสูงของฝ้าห้องพัก เรามักเจอบ่อย

วัตถุประสงค์หลักของการเขียนบทความนี้เพื่อสื่อการนำไปใช้ ในแง่ของกระบวนการ BIM ที่เกี่ยวข้องกับอาคารสูง หลักๆ จะเป็นส่วนที่ผมมีความเชี่ยวชาญ เหตุผลที่เชี่ยวชาญ เพราะทำบ่อย และคิดว่าประสบการณ์ที่มีอาจช่วยเป็นเครื่องปรุงให้หลายๆ คนในการทำงานปัจจุบันได้

ส่วนมากทีมพัฒนาโครงการที่ทำงานกับเราจะชอบกระบวนการนี้ มากกว่า ไม่ชอบ สาระคือ อย่างน้อยๆ ก็ได้รู้ปัญหา ผมขอเรียกว่าระเบิดเวลาขนาดย่อมๆ หลายลูก แล้วกัน อาคารสูงทำกันทีก็นาน หลายปีเหมือนกัน หลายคนที่ได้โอกาสทำ ก็อยากเห็นมันสำเร็จตรงหน้าทั้งนั้น ในระยะเวลาแบบนี้ทีมพัฒนาถ้าไม่ย้ายไปไหนเสียก่อน เค้าก็คือหมายเลขแรกที่จะต้องเผชิญกับปัญหา จากเริ่มออกแบบ สู่การก่อสร้าง ไปจนถึงส่งมอบ ถ้าแบบที่จะนำไปก่อสร้าง ไม่ได้คุยกันมาดีดี อย่างนั้นก็ระเบิดเวลา งบประมาณมหาศาลที่ใช้ ไหนจะความกดดันที่เกิดระหว่างทางอีก

เค้าเลยชอบ ได้คุยกัน ได้แก้ก่อน แก้บนกระดาษ บนจอ ดีกว่า แก้ตอนปูนมันหล่อไปแล้ว ประเด็นคือ ผู้ออกแบบเหมือนเอาแบบมาสร้างให้ดูก่อนที่จะสร้างจริง ก็ดีมากๆ ตอนนี้หลายที่ก็เริ่มผลักดันมากขึ้น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำส่วนใหญ่ก็มีการใช้มาไม่ต่ำกว่า 2 ปีกันแล้วทั้งนั้น บางที่ก็ชูให้เป็น Policy ของบริษัท

การเจอปัญหาของการก่อสร้างก่อนเป็นเรื่องที่ดีมากก็จริง แต่ก็มักจะมีคำถามตามมาเสมอถึงความคุ้มค่าในด้านการลงทุนใช้งาน BIM เข้ามาในโครงการ หวังว่าปัญหาเหล่านี้คงจะจบในเร็ววัน เมื่อทุกฝ่ายใช้ BIM อย่างเป็นปกติ

ปัญหาอีกประการสำคัญสำหรับการทำงานอาคารขนาดใหญ่ด้วย BIM นั้น มีเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรเข้ามาเกี่ยว นอกเหนือจากเวลาประชุมที่เบียดการทำงาน กลุ่ม BIM Manager, BIM Modeler ก็มีผลอีกเช่นกัน เราพบว่าปัญหาหลักที่มักจะเกิดขึ้นคือ การจัดจ้างจากภายนอก (Outsource) เพื่อมาทำงานในโครงการ ทำให้การสื่อสารจาก Design มาถึงตัว BIM Model นั้น มีขั้นตอนเพิ่มขึ้นอีกจากที่เคยใช้เวลาเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ก็ใช้เพิ่มขึ้นอีก และความผิดพลาดของโมเดล กว่าหนึ่งในห้า ก็มาจากการสื่อสารที่ผิดพลาดกันเองภายใน Designer บริษัทนั้นๆ นั่นเอง ด้วย สไตล์การทำงานของ Outsource แต่ละเจ้า มีความแตกต่างของการสร้างโมเดลในแต่ละขั้นตอน ทำให้บางส่วนของจุดมุ่งหมายของ BIM (BIM Goals) ที่โครงการคาดหวังอาจไม่ได้ดั่งใจ อย่างน้อยที่เห็นกันบ่อยก็คงเป็นเรื่องการถอดปริมาณ จากโมเดล

อาคารสูง มักจะมีสามส่วนที่มักจะเกิดประเด็น จากประสบการณ์ของผม ลองแยกมาได้ง่ายๆ ดังนี้

  • ส่วนที่ซ้ำกัน เช่น ห้องพักที่เหมือนกัน หรือพื้นที่ที่ซ้ำๆกัน
  • ส่วนที่ซับซ้อน และไม่ค่อยซ้ำกับอะไร ในอาคาร เช่น Transfer floor ของงานระบบ พื้นที่ส่วนกลาง
  • ส่วนต่อบริเวณที่ซ้ำกันกับอย่างอื่น เช่น สวนเหนือห้องพัก พื้นที่ส่วนกลางใต้ห้องพัก
    อะไรที่ง่ายๆ เหล่านี้จะช่วยเราวางแผนการตรวจสอบโมเดลทั้งหมดได้ง่ายขึ้นมาก และติดตามได้ดีขึ้น อย่างที่หลายๆ ทีมเริ่มมีการวาง Zoning ในการจะ Clash detection ในแต่ละครั้ง ซึ่งนอกจากจะเป็นการจำกัดวงของ Issues ที่จะเกิดขึ้น ยังเป็นการแบ่งเบาภาระคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็น Hardware หลักแต่ละครั้ง Model เบา ทุกอย่างก็ไวขึ้น หลายๆ ฝ่าย Set Clash Matrix ไว้ดีดี ก็เคลียร์อะไรได้ดีมากขึ้น

BIM Manager ที่ดีมักจะมีการชี้นำแนวทาง แนะแนวเกี่ยวกับการแบ่งส่วนของโมเดล ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Link เรื่องการแยกส่วน Element worksharring ก็จะดี แต่ก็ต้องปรับไปตามสถานการณ์โครงการเช่นกัน อย่างที่เคยเห็นก็คือการคิดเผื่อทีมอื่นๆ ที่ร่วมงานทั้งหมดด้วย เพราะถ้ามันยากไป คนอื่นๆ ก็จะลำบากไปด้วย

ระยะเวลา ประมาณ 5-9 เดือนเป็นระยะเวลาการ Combine BIM ช่วง Preconstruction ที่เหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
ความซับซ้อนของโครงการ ได้รับความร่วมมือจากแต่ละฝ่ายที่ดี ไม่ว่าจะเป็น Designer, Construction manager, และแผนกอื่นๆ ก็เป็นส่วนสำคัญ ที่น่าจะจำเป็นที่สุด คือ การตัดสินใจที่ดี อย่างมีแนวทาง เป็นรูปเป็นร่างจากเจ้าของโครงการ

สรุปสั้น
BIM ที่ผมรู้จักสำหรับอาคารสูงในไทย ตั้งแต่แรกๆ ก็ร่วมสิบปีในปีนี้ ยังพัฒนาต่อไป ยังมีอีกหลายอย่างให้เล่นมากมาย มีหลายเครื่องมือเข้ามาเพิ่มมาก การเดินทางยังคงอีกไกลสำหรับวงการนี้ เพราะอาคารก็มีแนวโนมที่ผุดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง มีการนำเอาเครื่องมือมาใช้พัฒนากันเรื่อยๆ คุณไม่ใช่คนใหม่ที่เข้ามา และใน Digital ecosystem นี้ ไม่มีอะไรช้าเกินไป เพราะสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน ขอให้สนุกกับ BIM ยินดีต้อนรับทุกคนครับ

Value of OPEN BIM for Asset Management

ผู้ที่อยู่ในวงการ BIM อาจเคยได้ยินผู้มีประสบการณ์ BIM บางท่านเคยให้ความเห็นว่า

“BIM นั้น ต้องทำงานอยู่ใน Software ยี่ห้อเดียว ไม่สามารถทำงานข้ามยี่ห้อได้ หรือแม้ว่าทำได้ก็จะเกิดความยุ่งยาก อาจทำให้โครงการของเรามีปัญหา ล่าช้า และ งบบานปลายได้”

คำกล่าวอ้างนั้นอาจจะดูเหมือนจริง แต่หากคิดวิเคราะห์จากบทความที่ผู้เขียนได้เขียนในครั้งที่แล้วเรื่อง BIM กับการซ่อมบำรุงอาคาร เจ้าของอาคารจะต้องนำBIM Model ไปใช้งานร่วมกับระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ซึ่งประกอบด้วย Software อีกจำนวนมากที่ไม่ใช่รูปแบบของ BIM ด้วย เช่น บัญชี, HR, การซ่อมบำรุง, การจัดซื้อเป็นต้น
หากคำกล่าวอ้างว่า Softwareเกี่ยวกับ BIM ยังสื่อสารข้ามยี่ห้อกันไม่ได้จริง แล้ว BIMจะสื่อสารกับโลกภายนอก BIM ได้อย่างไร? โดยผู้เขียนได้เป็นล่ามในการบรรยายเรื่องนี้ให้ BIM Guru: Mr. Eugenio จึงอยากเรียบเรียงสาระมาแชร์กับท่านผู้อ่านดังนี้

Reliable Data Reliable Data – Accessible for the Future

How many years will our Built Assets last? อาคารของเรามีอายุการใช้งานกี่ปี? อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่า อาคารต่างๆ รอบตัวเรานั้น ใช้งานมากกว่า 30 ปี บางแห่งก็มีอายุมากกว่า 50 ปี เช่น สำนักงาน โรงพยาบาล โรงงาน ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น จะเกิดอะไรขึ้นหากว่าเจ้าของอาคารต้องการเปิดไฟล์ BIM As-built Model ที่สร้างวันนี้ในอีก 10 ปีข้างหน้า? ท่านที่มีประสบการณ์ใน BIM มากกว่า 5 ปี อาจลองทดสอบได้ด้วยการนำไฟล์โครงการแรกที่ทำ มาเปิดด้วย Software เวอร์ชันล่าสุดว่าพบปัญหาในการแปลงไฟล์อย่างไร แล้วข้อมูลใดที่ตกหล่นหายไปบ้าง และลองจินตนาการว่า อีก 5 ปีข้างหน้า ท่านจะสามารถเปิดไฟล์นี้ได้หรือไม่

Data – Proprietary Format: คือข้อมูลที่จัดฟอร์แมตเฉพาะของ Software นั้นๆ หากนำไปเปิดด้วย Software อื่น อาจทำให้ข้อมูลผิดเพี้ยนหรือหายไป ยกตัวอย่างเช่น เสาบ้านที่เราสร้างด้วย Software X กำหนดฟอร์แมตเป็น กว้าง, ยาว, สูง ตามลำดับ แต่พอนำไปเปิดด้วย Software Y ทำให้ข้อมูลสลับกลายเป็น สูง, กว้าง, ยาว ทำให้เกิดปัญหาหากจะนำไปใช้ในการคำนวณความแข็งแรงของโครงสร้างเป็นต้น และแม้แต่ Software ยี่ห้อเดิม ที่ต่างเวอร์ชั่นกัน ก็อาจมีปัญหาเดียวกันนี้ได้

1 BIM Solution = Good Solution? ถ้าอย่างนั้นเราควรกำหนดไหมว่า โครงการอาคาร A กำหนดให้ใช้ Software X version 2022 ไปตลอดกาล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว?

ในข้อเท็จจริงนั้น หากโครงการมีขนาดใหญ่ อาจต้องใช้เวลาออกแบบมากกว่า 2 ปี และอาจก่อสร้างมากกว่า 4 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือวันแรกที่เปิดใช้อาคารนั้น Software X Version 2022 ก็ได้ล้าสมัยไปกว่า 6 ปีแล้ว จะไม่สามารถใช้ Features ใหม่ๆ ที่ทันสมัยได้เลย นอกจากนี้การยึดติดกับ Software X เท่านั้น ยังเป็นการเสียโอกาสเข้าถึง Features พิเศษของ Software ยี่ห้ออื่นๆ ด้วย เช่น การตรวจสอบคุณภาพของโมเดล (ยกตัวอย่าง Software X ไม่มี Features ตรวจคุณภาพโมเดล เช่น ขนาดขั้นต่ำของห้องนอน, ความกว้างโถงทางเดินในอาคารตามกฏหมาย, ระยะ Vertical Clearanceทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องหาวิธีตรวจเอง เช่น ด้วยการเอาเมาส์จิ้มวัดระยะ, เขียนโปรแกรมเพิ่มเติม ในขณะที่ใช้ Software Y มี Features ดังกล่าวสามารถตรวจสอบคุณภาพโมเดลได้อัตโนมัติ สามารถทำได้ภายในไม่กี่นาที)

ยิ่งไปกว่านั้น Software อื่นๆ มี Features ที่น่าสนใจ เช่น ความเบาและรวดเร็วในการประมวลผล, การใช้งานบน Mac OS, การวิเคราะห์เรื่องอัคคีภัย, เรียกได้ว่าหากเจ้าของอาคารกำหนดให้ยึดติดกับ Software เดียว ก็จำเป็นต้องทิ้ง Features ดีๆ ของ BIM ทิ้งไปทั้งหมด ซึ่งการกระทำนี้อาจจะไม่ตรงกับนิยามของกระบวนการ BIM สักเท่าไหร่

Standardized Data structure – Being able to use our Data

หากเปรียบเสมือน Software ยี่ห้อต่างๆ ของ BIM คือภาษา เช่น Software X เป็นภาษาจีน, Software Y เป็นภาษาไทย, Software Z เป็นภาษาเกาหลี วิธีที่ทำให้คนจาก 3 ชาติ คุยกันรู้เรื่องได้ง่ายที่สุด ก็คือคุยภาษากลางอย่างภาษาอังกฤษ ซึ่งก็คือ Standardized Data structure ใน BIM นั้นเอง โดยมีคำศัพท์ในวงการเรียกว่า “OPEN BIM”

โดย OPEN BIM มีการใช้ไฟล์ Format ตระกูล IFC ซึ่งพัฒนาโดย buildingSMART ตั้งแต่ปี 1994 ให้เป็น Open Data Format ของ BIM และสามารถใช้งานร่วมกับ Open Data Format อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น PDF, CSV และ BCF ทำให้สามารถใช้งานได้จากทุก Software และทุกเวอร์ชั่น ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด (Open Data Format คือไฟล์ที่เปิดด้วย “อะไรก็ได้” เช่น ไฟล์ PDF ของAs-built Drawing ที่สร้างเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในปัจจุบันสามารถเปิดได้ด้วยคอมพิวเตอร์ แมค และวินโดส์ รวมถึง Smart Device) นอกจากนี้ไฟล์ดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้งานต่อใน Dimensionอื่นๆ ของ BIM เช่น 4D (Time Liner: จำลองการก่อสร้าง), 5D (Quantity Takeoff: ถอดปริมาณ ราคา), 6D (Simulation & Analysis: เช่น แบบจำลองการหนีไฟ, ไฟไหม้, ความแข็งแรงของอาคาร เป็นต้น)

สำหรับ BIM 7D (Asset&Facility Management: การบริหารจัดการและบำรุงรักษาทรัพย์สิน) จำเป็นต้องทำงานกับ Open Data Format มากที่สุด เนื่องจากต้องทำงานหลายทศวรรษ (ต่างจากการออกแบบ และการก่อสร้างมักจะใช้เวลาไม่เกิน 5 ปี) จำเป็นต้องทำงานร่วมกับ Software หลายยี่ห้อ หลายเวอร์ชั่น

รวมถึงต้องทำงานกับ Non-BIM software และเนื่องจากต้องทำงานหลายทศวรรษ ตัวโมเดลอาคารเหล่านั้นอาจถูกนำกลับมาแก้ไขเนื่องจากการรีโนเวต หรือมีการต่อเติมขยายอาคาร โดยต้องมีข้อมูลในโมเดลตรงกับ ERP ในขณะนั้น ดังนั้น Open Data Format จึงจำเป็นกับการทำงานประเภทดังกล่าว และการที่บุคลากรในองค์กรขาดความเข้าใจใน Open Data Format อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระบวนการ BIM ยังไม่ถูกนำไปใช้งานช่วงการบริหารอาคาร

เห็นได้ว่า OPEN BIM มีความจำเป็นสำหรับการบริหารทรัพย์สินอาคาร ซึ่งแม้ว่า OPEN BIM จะดูยุ่งยากกว่าการทำงานใน Software ยี่ห้อเดียวเล็กน้อย แต่ในระยะยาวแล้วเจ้าของโครงการได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าทั้งในแง่ของการได้ความมั่นใจว่าจะสามารถใช้ข้อมูลชุดนี้ทำงานต่อได้หลายทศวรรษ รวมถึงได้รับผลงานที่ดีที่สุดจากคนทำงานที่ได้ใช้เครื่องมือที่ตนเองถนัด และได้รับ Features เด่นๆ ของ Software หลายๆ ยี่ห้อเข้าด้วยกันด้วย

Original Lecturer**
Eugenio Fontan Yanes
M. Arch, ARB, HKIBIM
BIM Consultant at GRAPHISOFT ASIA
Adjunct Assistant Professor at Hong Kong University
Co-Founder of enyzyme APD

Co-author/Translator
ดร.สรัสไชย องค์ประเสริฐ

BIM กับการซ่อมบำรุงอาคาร

BIM คืออะไร?

ปัจจุบัน BIM (Building Information Modeling) หรือกระบวนการจำลองการก่อสร้างและบริหารการก่อสร้างในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลมีลักษณะคล้ายการเขียนโมเดลอาคาร 3 มิติ (Graphical Data: เช่นความกว้าง ยาว สูง รูปร่างหน้าตา สถานที่) ที่มีการฝังข้อมูลเข้าไปในโมเดล (Non Graphical Data: เช่นน้ำหนัก ราคา วันที่ก่อสร้าง ใบรับประกัน คุณสมบัติ) กระบวนการ BIM เป็นข้อบังคับในโครงการก่อสร้างในหลายประเทศ โดยในประเทศไทย มีการใช้อย่างแพร่หลายในช่วงการออกแบบและก่อสร้างในภาคเอกชน เช่น คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า รวมถึงภาครัฐ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2, ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะเฟส 2, โรงประปาของการประปานครหลวง เป็นต้น เนื่องจากเจ้าของโครงการเล็งเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจาก กระบวนการ BIM ในขั้นตอนการก่อสร้างที่สามารถลดความผิดพลาดในการก่อสร้าง, โปร่งใส, ควบคุมเวลาการก่อสร้างได้ รวมถึงสามารถสื่อสารกับทีมงานได้ถูกต้อง

BIM กับบทบาทในการบริหารจัดการอาคาร

เป็นที่น่าเสียดายว่า อาคารหลายแห่งในไทยลงทุนสร้างโมเดล BIM ไว้ในช่วงการก่อสร้าง แต่โมเดลเหล่านั้นกลับไม่ถูกนำมาใช้งานในช่วงการเปิดใช้งานอาคาร ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว โมเดล BIM ของอาคารนั้นมีคุณค่าและประโยชน์ในตัวมันเอง หากนำมาใช้งานให้ถูกวิธีจะสามารถลดต้นทุนในการทำงานและเพิ่มรายได้ให้กับเจ้าของอาคาร”

A vertical low angle shot of modern glass business buildings touching the sky

อย่างไรก็ตามกระบวนการ BIM จะมีประโยชน์สูงสุด เมื่อนำไปใช้ในช่วงเวลาบริหารทรัพย์สินในช่วงเปิดให้บริการด้วย เนื่องจากอาคารส่วนใหญ่สามารถมีอายุการใช้งานมากกว่า 50 ปี ในขณะที่ช่วงเวลาก่อสร้างอาคารอยู่ที่ 2-3 ปีเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันยังไม่นิยมนำ BIM ไปใช้ในการบริหารอาคารในประเทศไทย อาจมาจากด้วยสาเหตุหลายประการเช่น ยังขาดผู้จัดการอาคารที่เข้าใจเทคโนโลยี BIM หรือเจ้าของอาคารยังไม่เห็นประโยชน์หรือความสำคัญของ BIM ในช่วงการบริหารอาคาร หรือผู้เกี่ยวข้องอาจเห็นว่าองค์กรของเราไม่เคยใช้เทคโนโลยีนี้ก็ยังสามารถบริหารอาคารแต่ก็ยังกำไรมาจนถึงทุกวันนี้ได้ ทำให้เป็นที่น่าเสียดายว่า อาคารหลายแห่งในไทยลงทุนสร้างโมเดล BIM ไว้ในช่วงการก่อสร้าง แต่โมเดลเหล่านั้นกลับไม่ถูกนำมาใช้งานในช่วงการเปิดใช้งานอาคาร ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว โมเดล BIM ของอาคารนั้นมีคุณค่าและประโยชน์ในตัวมันเอง หากนำมาใช้งานให้ถูกวิธีจะสามารถลดต้นทุนในการทำงานและเพิ่มรายได้ให้กับเจ้าของอาคาร อาจกล่าวได้ว่าโมเดล BIM ก็สามารถตีเป็นมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ในองค์กรได้

ประโยชน์ของ BIM ในการบริหารอาคาร

ประโยชน์ของกระบวนการ BIM ในช่วงเปิดใช้งานอาคารมีหลายประการ ประการแรกคือข้อมูลอาคารเป็นรูปแบบของ 3 มิติ ซึ่งมีความแม่นยำในการบันทึกข้อมูลและเชื่อมต่อกับข้อมูลต่างๆ สามารถบอกพิกัดและหน้าตาของทรัพย์สินได้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้ที่ปฎิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องทุกคนเข้าใจตรงกันว่าทรัพย์สินที่แจ้งซ่อมนั้น คือชิ้นไหน หน้าตาเป็นอย่างไร และตั้งอยู่ที่พิกัดใดในอาคาร นอกจากการเก็บข้อมูลเป็น 3 มิติแล้วยังสามารถเก็บข้อมูลในรูปแบบ 4 มิติ ที่มีเรื่องของเวลามาเกี่ยวข้อง ผู้ปฎิบัติงานสามารถย้อนกลับไปดูในอดีตของอาคารได้ สามารถดูประวัติการ Renovate ของห้อง หรือประวัติการต่อเติมโครงสร้างของอาคารได้ รวมถึงช่วยให้เห็นแนวท่อที่วางอยู่เหนือฝ้า ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่ต้องรื้อฝ้าทั้งหมดเพื่อทำการซ่อมบำรุง สิ่งเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงการบริหารอาคารในปัจจุบันอย่างก้าวกระโดด เนื่องด้วยการทำงานในปัจจุบันอิงกับข้อมูล 2 มิติ เช่นแบบพิมพ์เขียว หรือแบบ CAD ที่ไม่สามารถทำอย่างที่ BIM ทำได้

ประการถัดมาคือการมีจุดอ้างอิงในการเก็บประวัติการซ่อมบำรุง ในปัจจุบันข้อมูลการซ่อมบำรุงมักเก็บในรูปแบบของเอกสาร กระดาษ ซึ่งหากอาคารนั้นมีอายุการใช้งานมานาน เช่นมากกว่าสิบปีขึ้นไป ประกอบกับอาคารมีขนาดใหญ่ จะทำให้ข้อมูลดังกล่าวมีขนาดใหญ่มาก หากเป็นในรูปแบบกระดาษจะสิ้นเปลืองที่เก็บ และแม้ว่ามีระบบเก็บเป็นดิจิทัลก็ตามแต่ไม่ง่ายในการจัดระเบียบข้อมูลให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ข้อมูลได้ง่าย อาคารในปัจจุบันจึงพึ่งพาบุคลากร คนเก่าแก่ขององค์กรในการบริหารจัดการข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงหากบุคลากรเหล่านั้นลาออก หรือเกษียณจากองค์กรไป ข้อมูลเหล่านี้จะหายไปทันที ซึ่งการนำกระบวนการ BIM มาใช้จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ เช่นฐานข้อมูลของแอร์แต่ละเครื่องนั้นต้องเชื่อมต่อกับตัวโมเดล 3 มิติของแอร์เหล่านั้น ทำให้การบริหารข้อมูลทำได้ง่าย

หลักการทั้งหมดนี้อาจมีการดำเนินงานอยู่แล้วในองค์กรใหญ่ต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก BIM เลย ในรูปแบบของ ERP (Enterprise Resource Planning) อาจรวมถึงระบบบัญชี การจัดซื้อ และการซ่อมบำรุง ซึ่งการนำ BIM เข้าไปบูรณาการกับ ERP นั้น จะช่วยให้การทำงานเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้องค์การใหญ่อาจมีระบบแจ้งซ่อม (Ticketing) ของเดิมอยู่แล้วที่มีการบันทึกว่าทรัพย์สินชิ้นไหนเสีย ใครเป็นคนซ่อมเมื่อไหร่ โดยการบูรณาการระบบแจ้งซ่อมเข้ากับ BIM นั้นจะทำให้องค์กรสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น เห็นชัดเจนว่าเครื่องจักรชิ้นใดอยู่ที่บริเวณไหนของอาคารเสียหาย

BIM กับ IoT

นอกจากนี้การที่ราคาของ IoT (Internet of Things) ถูกลง จึงสามารถนำข้อมูลจาก IoT มาบูรณการกับ BIM Model ได้เลย เช่น ช่างซ่อมบำรุงอาคารสามารถตรวจสอบสถานะของเครื่องจักรสำคัญ อย่าง เครื่องสูบน้ำ ตู้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ว่าเครื่องใดทำงานได้ปกติ เครื่องใดเริ่มเกิดปัญหาต้องซ่อมแซมหรือซื้อใหม่ ทำให้สามารถบริหารงบประมาณการซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ และยังสามารถประหยัดเวลาของช่างซ่อมบำรุงอาคาร ลดความถี่ในการเดินไปจดค่าการทำงานของเครื่องจักร และไปใช้เวลากับสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า เช่น การวางแผนซ่อมบำรุงอาคารทั้งปี เป็นต้น

Architect using transparent tablet smart construction technology in double color exposure effect

สรุป

เห็นได้ว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง BIM มาใช้ในกิจกรรมการบริหารอาคารนั้น จะช่วยให้ลดต้นทุนของการบริหารจัดการอาคารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถขยายผลจากอาคาร นำไปใช้กับโครงสร้างพื้นฐานระดับเมือง หรือที่เรียกว่า Smart City ได้ ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนและ GDP ของประเทศ

depa ผนึกกำลัง TBIM ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล แบบจำลองสารสนเทศอาคารและเมือง

ขอแสดงความยินดีกับความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตัล (depa) และ สมาคมแบบจำลองสารสนเทศ​อาคารแห่งประเทศไทย (TBIM)​ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรม​ดิจิตัล และพัฒนาแบบจำลองโครงสร้างพื้นฐาน อาคาร และเมือง

depa ผนึกกำลัง TBIM ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล แบบจำลองสารสนเทศอาคารและเมือง

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และ ผศ.ดร.สันต์ จันทร์สมศักดิ์ นายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคารแห่งประเทศไทย (TBIM) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) การส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล แบบจำลองสารสนเทศอาคารและเมือง โดยมี ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ depa และ ผศ.ดร.สรรพวัฒน์ จตุพัฒน์วรางกูร หัวหน้ามาตรฐานและกรรมการบริหาร TBIM ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม

.

ความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านแบบจำลองสารสนเทศอาคารและเมืองสำหรับบริการประชาชนหรือบริการสาธารณะบนพื้นฐานความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

.

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ในระยะแรกจะพิจารณาดำเนินการนำร่องในพื้นที่เมืองอัจฉริยะและเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะที่มีความพร้อม มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนและภาคประชาชน ก่อนขยายผลไปในระดับประเทศต่อไป ขณะที่ ดร.ภาสกร ได้เน้นย้ำถึงแนวคิดการพัฒนาเมืองด้วยข้อมูล (Data-driven) โดยใช้เครื่องมือ BIM และ Digital Twin สร้างบริการพื้นฐานที่ตอบโจทย์ผู้นำเมืองและประชาชนในวงกว้าง

.

ขณะที่ ผศ.ดร.สันต์ กล่าวว่า TBIM มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะดำเนินการนำร่องพัฒนาแบบจำลองสารสนเทศอาคารและเมืองร่วมกับ depa ด้าน ผศ.ดร.สรรพวัฒน์ ได้นำเสนอตัวอย่างการพัฒนา Digital Twin ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี พร้อมเสนอแนะแนวทางความร่วมมือกับ depa ในพื้นที่อื่นเพิ่มเติมเพื่อขยายผลต่อไป

.

ทั้งนี้ depa และ TBIM จะดำเนินการร่วมกันภายใต้ขอบเขตความร่วมมือ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแบบจำลองสารสนเทศอาคารและเมืองมาประยุกต์ใช้พัฒนาระบบและแพลตฟอร์ม สำหรับบริการประชาชนหรือบริการสาธารณะ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการข้อมูลเมือง (City Data Platform: CDP) นอกจากนี้ยังส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีแบบจำลองสารสนเทศอาคารและเมือง สร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีแบบจำลองสารสนเทศอาคารและเมือง โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน